กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
ประเด็นสำคัญ
สถานการณ์สุขภาพพระสงฆ์ไทย พบว่า พระสงฆ์อาพาธเข้ารับการรักษาด้วยโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ต้อกระจก โรคไตวายเรื้อรัง และโรคหัวใจ ขาดเลือดเรื้อรัง โดยผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพพระสงฆ์ พบว่า มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ร้อยละ 22 และพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงฆ์ ร้อยละ 78 ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ อาทิ การรับประทานอาหารหวาน มัน เค็มที่รับใส่บาตรทำบุญจากประชาชนพฤติกรรมเสี่ยง ต่างๆ อย่างเช่นการสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟวันละหลายแก้ว บริโภคเครื่องดื่มชูกำลังและขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
อโรคยา ปรมาลาภา คือ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แสดงให้เห็นถึงการดูแลสุขภาพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ มีพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัย โดยเราต้องสร้างความแข็งแรงให้กับตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีวิธีการสร้างสุขภาวะวิถีพุทธแบบง่าย ได้แก่ 1) สุขจากการมี (ลาภยศ สรรเสริญ) 2) สุขจากการให้ (การได้ช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปัน) 3) สุขจากการได้อยู่ในวิถีของธรรมชาติ 4) สุขจากการมีจิตใจที่ดี (เกิดจากสุขภาวะทางจิตใจ สงบ มีความมั่นคงทางจิตใจ) 5) สุขจากการได้ปล่อยวาง (เข้าใจ มองเห็น อยู่เป็นด้วยปัญญา) และ 6) สุขในธรรม
กรมอนามัย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 ตามกรอบแนวทางธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่าย และชุมชนทั่วประเทศ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยบูรณาการการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศิลปวัฒนธรรมในความเป็นวัด โดยใช้หลัก 5 ร. คือ ร่มรื่น ร่มเย็น ร่วมสร้าง ร่วมจิต (วิญญาณ) และร่วมพัฒนา อีกทั้งได้นำแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ซึ่งเป็นแนวทางในการจัดการสุขภาพพระสงฆ์ ตามหลักพระธรรมวินัย เน้นการปรับเปลี่ยนปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ 6 ด้าน ได้แก่ 1) โภชนาการ 2) กิจกรรมทางกาย 3) การนอนหลับ 4)การควบคุมความเครียดและการจัดการด้านอารมณ์ 5) หลีกเลี่ยงสารเสพติด สารหรือวัตถุที่เป็นอันตรายหรือให้โทษต่อสุขภาพ และ 6) การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
บทสรุป การส่งเสริม สนับสนุนให้พระสงฆ์มีสุขภาวะที่ดี เป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม ที่จะนำไปสู่สุขภาวะพระสงฆ์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชน มุ่งให้เกิด “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมนเป็นสุข”