กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “สาธารณสุขห่วงใย มอบของขวัญผู้สูงวัย ในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในวันที่ 4 เมษายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนภาคีเครือข่ายการดูแลผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุกว่า 100 คน ร่วมงาน
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพ เน้นการดูแลแบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึง และได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้เข็มแข็ง มีคุณภาพทั่วถึงและยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนดนโยบาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” ผ่านการบูรณาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย แบบองค์รวม ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยการมอบของขวัญ 3 ชิ้น ให้แก่ผู้สูงอายุ เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (วันที่ 13 เมษายนของทุกปี) ได้แก่
ของขวัญชิ้นที่ 1 การคัดกรองความเสื่อมของร่างกาย โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ภาวะโภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกาย และสุขภาพช่องปาก ดำเนินการคัดกรองโดยบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีความเสื่อมได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างทันท่วงที ครอบคลุมผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน
ของขวัญชิ้นที่ 2 โปรแกรมการชะลอความเสื่อม เพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ ซึ่งดำเนินการ โดยหมอคนที่ 1 ทำหน้าที่เยี่ยมบ้าน และเสริมพลังผู้สูงอายุและญาติให้ดำเนินกิจกรรมตามโปรแกรมที่วางแผนไว้ ครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงกว่า 1 ล้านคน และหมอคนที่ 2 ทำหน้าที่วางแผนสาธิตกิจกรรมชะลอความเสื่อม และให้การดูแลรักษาเบื้องต้น
ของขวัญชิ้นที่ 3 มอบสิทธิประโยชน์แก่ผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง โดยมีผู้บริบาลผู้สูงอายุในระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ได้แก่ ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) จำนวน 16,000 คน และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จำนวน 100,000 คน ตลอดจนสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับผู้สูงอายุติดเตียง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ รวมทั้งการสนับสนุนให้บุคคลในครอบครัวมีสมรรถนะเป็นผู้บริบาลในครอบครัว (Family caregiver) ครอบคลุมผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน และติดเตียงกว่า 5 แสนคน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
สำหรับผลการดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ปี 2564 พบว่า มีตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ในชุมชนผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,617 ตำบล จากทั้งหมด 7,255 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 91.21 และมีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลตาม Care Plan จำนวน 342,590 คน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องเร่งดำเนินการในระดับพื้นที่ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศที่จะต้องกำหนดทิศทางให้กับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและหน่วยบริการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เร่งยกระดับการส่งเสริมสุขภาพ ให้เกิดผลลัพธ์ต่อสุขภาพประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนต่อไป
รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม https://shorturl.at/hEMZ9